วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สรุปการวิจารณ์วรรณกรรมด้วยทฤษฎีมาร์กซิสต์


สรุปการวิจารณ์วรรณกรรมด้วยทฤษฎีมาร์กซิสต์

                เรื่องสั้น “มีดประจำตัว”  เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเรามีความโหดร้ายทารุณ  และป่าเถื่อนเพียงใด  คนที่มีอำนาจ  อิทธิพล  มีฐานะทางสังคมสูง  แท้จริงแล้วก็กินได้แม้กระทั่งเนื้อมนุษย์ด้วยกัน  เพราะแต่ละคนต่างมีมีดประจำตัวของตนเอง  ยิ่งร่ำรวยมีอำนาจมาก  มีไหวพริบมาก  มีการศึกษามาก  มีดประจำตัวของตนเองก็ยิ่งมีความแหลมคมมากเช่นกัน  จากเนื้อหาโดยรวมที่สะท้อนภาพการกระทำและความคิดของบุคคลระดับสูง (พวกนายทุน)  ที่คอยแต่จะสูบเลือดเฉือนเนื้อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ที่พวกเขาเรียกว่า  คนชั้นต่ำ (ชนชั้นกรรมาชีพ) อย่างไร้ความปราณี
                เรื่องสั้นนี้มีความยาวเพียง  ๑๘ หน้ากระดาษ (หนังสือขนาดครึ่งกระดาษ A๔) แต่ในตัวอักษรที่ร้อยเรียงเพียงสั้นๆ นั้น  สามารถสะท้อนให้เห็นทั้งสภาพสังคม  แนวคิดของกระฎุมพีรวมทั้งแสดงให้เห็นตัวตน  มุมมอง  ความคิดของผู้แต่งได้มากทีเดียว  การแต่งเรื่องสั้นมีความยากและพิเศษตรงที่  ผู้แต่งต้องถ่ายทอดความคิด  อารมณ์  ที่ต้องการสื่อให้มากที่สุดผ่านตัวละครเพียงไม่กี่ตัว  และจะต้องดึงดูดความสนใจ  รวมทั้งเสนอแนวคิดให้ผู้อื่นได้รับและคิดต่อยอดไป  ดังนั้นการรู้จักผู้แต่งก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจ  และมองภาพที่สะท้อนผ่านวรรณกรรมที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมุมมองและแนวคิดของผู้แต่งนั่นเอง
                ชาติ  กอบจิตติผู้แต่งวรรณกรรมเรื่องมีดประจำตัว  เป็นนักเขียนผู้มีผลงานทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นแม้จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักเขียนคนอื่น  แต่ผลงานของเขาเปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งด้านแนวความคิดอันแสดงสำนึกเชิงสังคมและด้านวรรณศิลป์อันแสดงนวัตกรรมของการสร้างสรรค์  งานของเขาสะท้อนสังคมไทยอยู่ไม่น้อย  ชาติ  กอบจิตติจึงเป็นแบบอย่างทั้งแนวคิด  แนวเขียน  แก่นักเขียน  นักอ่านร่วมสมัย  และเป็นเสียงแห่งมโนสำนึกของยุคสมัยที่ปลุกผู้อ่านให้พิจารณาความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ  และงานเขียนเรื่องมีดประจำตัวก็เป็นงานเขียนที่สะท้อนความเป็นจริงของโลกและชีวิตสังคมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
                จากเรื่องสั้น “มีดประจำตัว”  เมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพสังคมของคนชนชั้นกลาง (กลุ่มทุนนิยมหรือพวกนายทุน)  ที่มีความคิด  ค่านิยมที่คิดว่าตนเองคือคนชั้นสูง  มีเงิน  มีอำนาจ อยู่เหนือผู้อื่นในทุกๆ เรื่อง  แบ่งแยกชนชั้นจากคนชั้นต่ำ (พวกกรรมกร) โดยสิ้นเชิง  ดังที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง  เช่น “คืนนี้จะเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญของเขา  มันจะบ่งชี้ว่าลูกชายของผมจะเป็นคนในระดับผมได้หรือไม่  หรือว่าเขาจะล้มเหลวกลายเป็นพวกมนุษย์ชั้นต่ำ” (ชาติ  กอบจิตติ. ๒๕๒๗ : ๑๘๒)  และอีกตัวอย่างหนึ่ง ในตอนที่แขกในงานเลี้ยงกำลังเตรียมตัวกินเนื้อมนุษย์  เช่น  “ทุกคนต่างสรวลกับการผูกผ้ากันเปื้อนอยู่ในความสลัวราวกับกุ๊กภัตตาคารกำลังเตรียมตัวก่อนจะสับหมู  หรือสับเนื้อ  แต่เกรงว่าเลือดของสัตว์บนเขียงจะกระเซ็นมาเปื้อนเสื้อผ้าอันสะอาดสะอ้านของเขา” (ชาติ  กอบจิตติ. ๒๕๒๗ : ๑๘๙๑๙๐)  ผู้เล่า (ตัวละครที่เป็นพ่อ)  ใช้คำว่า
“สัตว์”  แทนมนุษย์  นั่นแสดงให้เห็นถึงการดูถูกและมองมนุษย์ทั่วไปเป็นคนที่ไร้ค่าไม่ต่างกับสัตว์ตัวหนึ่งนั่นเอง
                อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัว  โหดร้ายทารุณ  ไร้ความปราณีของชนชั้นนายทุนคือ  “สงสารมันไม่ได้หรอก  ไอ้พวกมนุษย์ชั้นต่ำพวกนี้  มันเกิดมาเพื่อให้คนอย่างพวกเรากิน  ถ้าเราสงสารมันเราก็ไม่มีความสุข...” ภรรยาพูดเสริมให้ลูกฟัง (ชาติ  กอบจิตติ. ๒๕๒๗ : ๑๙๐๑๙๑) 
                นอกจากความรู้สึกสำนึกคิดของคนชั้นกลาง (นายทุน) ที่สะท้อนผ่านการกระทำและคำพูดของตัวละครแล้ว “มีดประจำตัว”  ยังสะท้อนให้เห็นภาพของชนชั้นกรรมาชีพ  ที่แตกต่างจากชนชั้นนายทุนอย่างชัดเจนราวฟ้ากับเหว  ดังที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง  เช่น “ผมชูแก้วขึ้นโดยไม่ได้หันไปมองคนรับใช้ประจำโต๊ะ  ผมรู้ว่าเขาต้องพร้อมจะรับคำสั่งอยู่ตลอดเวลา  เขาเป็นไอ้คนประเภทไม่มีสิทธิ์  มีมีดประจำตัว  เขารู้ตัวว่าจะต้องไม่ทำอะไรให้คนอย่างผมโกรธ” (ชาติ  กอบจิตติ. ๒๕๒๗ : ๑๘๔)  และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ “ถ้าแกจะผ่าเหล่าผ่ากอก็ตามใจแก  คิดให้ดีก็แล้วกัน  เพราะนั่นหมายถึงวิถีชีวิตแกจะต้องเปลี่ยนไปเป็นไอ้พวกมนุษย์ชั้นต่ำ  อีกหน่อยถ้าแกมีเมียมีลูก  อดอยากเข้าก็ต้องเอาลูกไปขายเป็นสินค้าข้างถนน  ให้คนมีมีดประจำตัวซื้อไปแร่เนื้อเถือหนัง  ดูดเลือด  ดูดสมองมากิน...” (ชาติ  กอบจิตติ. ๒๕๒๗ : ๑๘๗)
                ตัวอย่างที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงสถานะที่ต่ำต้อย  ด้อยค่า  ของคนชนชั้นกรรมาชีพหรือคนชั้นต่ำ  ที่ต้องคอยรับใช้และบริการให้ความสะดวกสบายแก่พวกเจ้านายและเป็นผู้ถูกกระทำเมื่อพวกเจ้านายต้องการ  อย่างไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรได้เลย
                ผู้แต่งเลือกใช้คำว่า “มีดประจำตัว”  เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งหนึ่ง  “มีดประจำตัว”  คือสิ่งที่มีเฉพาะตัวไม่ตกทอดหรือใช้แทนกันไม่ได้  มอบให้กันไม่ได้  ไม่ใช่เพราะความรู้  และฐานะทางสังคมเท่านั้นที่จะทำให้  “ลูก” (ตัวเอก)  ผ่านการทดสอบให้ใช้ “มีดประจำตัว”  ได้ดังนั้น  “มีดประจำตัว”  จึงน่าจะหมายถึงความโหดร้ายใจดำของคน  หรือ “ความไร้มนุษยธรรม”  นั่นเอง  สังเกตว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะกินคนได้ในสังคมนี้  ไม่ใช่เพราะพื้นฐานครอบครัว  การศึกษา  ฐานะทางสังคมหรือฐานะทางเศรษฐกิจ  เพราะถ้ามีดประจำตัวเป็นแค่ที่กล่าวมานั้น  ตัวเอกในเรื่องก็คงไม่มีปัญหาเรื่อง “มีดประจำตัว”  เพราะพ่อเพิ่งโอนหุ้นในบริษัทให้ถือครองเป็นผู้บริหารมีอำนาจแล้ว (ดังนั้น “อำนาจ” ก็คงไม่ใช่สัญลักษณ์ของมีดประจำตัว)  แต่ลูกชายต้องถูกทดสอบคุณสมบัติก่อนคือ  ใช้มีดประจำตัวได้หรือไม่  สามารถที่จะใช้ฐานะทางเศรษฐกิจเช่นว่านั้น 
“เอาเปรียบ”  ผู้ด้อยกว่าในสังคมได้หรือไม่  โดยปราศจากความสงสาร  หิริโอตัปปะและอื่นๆ
                จะเห็นว่าบางตอนในเรื่องก็เล่าเรื่องของคนที่ขายลูก  ขายเพื่อน  ขายพ่อแม่  เพื่อให้ได้สิทธิ์มีมีดประจำตัว  ยิ่งตอกย้ำความโลภในจิตใจของมนุษย์  ภาพสังคมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาของ  Marx  ที่เชื่อว่าวัตถุ (Material) เท่านั้น ที่เป็นสิ่งแท้จริง  ความคิดและการทำงานของจิตใจเป็นเพียงการสะท้อนออกของวัตถุและสภาพสังคมที่ถูกกำหนดโดยวัตถุ  ปรัชญานี้ถูกขนานนามว่าวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical materialism) 
                เหตุผลที่มนุษย์ทุกคนต้องพยายามดิ้นรนขวนขวาย  หาทางถีบตนเองขึ้นสู่สังคมชั้นสูงเป็นนายทุนหรือเจ้านาย  ก็เนื่องมาจากความรู้สึกแปลกแยกที่เกิดขึ้นในจิตใจ  เกิดจากความรู้สึกถูกกดขี่ข่มเหง  เอารัดเอาเปรียบสารพัด  ซึ่ง Marx ได้กล่าวไว้ว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อให้เกิดการโค่นล้มอำนาจของชนชั้นปกครองในที่สุด
                ในเรื่อง “มีดประจำตัว”  ไม่ได้เสนอภาพการลุกฮือขึ้นต่อต้านหรือการเรียกร้องอะไรของชนชั้นล่าง  เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นโรงภาพยนตร์ฉายภาพการกดขี่ข่มเหงชีวิตและจิตใจของพวกนายทุนที่กระทำต่อชนชั้นล่างเท่านั้น  นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความขัดแย้งภายในจิตใจของลูก (ตัวเอก)  ว่าไม่ปรารถนาที่จะทำร้ายผู้อื่นแต่อีกใจหนึ่งก็ต้องทำเพื่อการเอาตัวรอดและหลีกเลี่ยงคำพูดที่ด่าทอประชดประชันเสียดสีจากผู้เป็นพ่อ ลุกจำเป็นต้องซึมซับความโหดร้ายของคนรอบข้าง นายทุนเอาเด็กก็เปรียบเสมือนผ้าบริสุทธิ์ ที่มีจิตใจ มีเมตตาอารีอยู่ เหมือนกับคนที่เห็นชนชั้นล่างที่โดนนายทุนเอาเปรียบแล้วสงสาร คิดโทษพวกนายทุนสารพัด แต่เมื่อเด็กอยู่ในสังคมนั้นและได้ลิ้มลองเนื้อมนุษย์แล้ว ตัวเด็กเปลี่ยนจากคนจิตใจอารีมาเป็นเหมือนพ่อและแม่ของเขาที่หิวกระหายเลือดเนื้อมนุษย์เหมือนกัน เช่นเดียวกับคนได้เข้าสู่สังคมแบบนั้นแล้วได้รับรู้รสชาติผลประโยชน์ต่างๆที่ได้มาแล้วเกิดกิเลส ความโลภเข้าครอบงำจิตใจอย่างยากที่จะสลัดมันออกไปจากความรู้สึกนึกคิดได้ ราวกับผ้าขาวที่เปื้อนหมึกดำแล้วไม่มีทางที่จะซักให้ขาวสะอาดดังเดิมได้
                สำหรับภาษาที่ผู้แต่งได้บรรจงร้อยเรียงขึ้นนั้น ทุกตัวอักษรเต็มไปด้วยพลังที่สามารถสะกดคนอ่านให้ตกอยู่ในอารมณ์หวาดเสียว ขยะแขยง และการจินตนาการถึงสีหน้าท่าทางของตัวละคร และบรรยากาศในงานเลี้ยงที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่ทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในภาพ “มายาอันสมบูรณ์” ได้อย่างไม่มีข้อกังขาได้เลย
                จากเนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องนี้มีความดีเด่นในการสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กับวัตถุนิยม  ค่านิยมทางเศรษฐกิจอันก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้นขึ้น  เรื่องมีดประจำตัวก็เหมือนกับการกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบโดยชนชั้นสูงในสังคมไทยในปัจจุบัน  หากท่านเคยไปดูที่โรงงานต่างๆ หรือดูงานก่อสร้างท่านจะเห็นว่าคนงานพวกนี้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนข้นแค้นและสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายต่อชีวิตคนงานและกัดกร่อนชีวิตคนเหล่านั้นไปช้าๆ โดยที่คนเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด  นอกจากนี้การใช้สัญลักษณ์ก็นับว่าเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้นั่นคือ “มีดประจำตัว”  ซึ่งเป็นการใช้สัญลักษณ์ที่ลงตัว  เหมาะสมกับบรรยากาศงานเลี้ยงและเนื้อหาของเรื่อง  ทางกลุ่มคิดว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องและคงเป็นวรรณกรรมที่สามารถจุดประกายให้ผู้อ่านหลายคนฉุกคิดได้ว่า  “ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม”







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น