วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จากมาร์กซิสต์ (Marxism) สู่มาร์กซิสต์ใหม่ (Neo’ Marxism)


จากมาร์กซิสต์ (Marxism)  สู่มาร์กซิสต์ใหม่ (Neo’ Marxism)
มาร์กซิสต์ใหม่ (Neo’ Marxism) หมายถึง แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยเหมาะสมกับความต้องการในสังคมสมัยใหม่

แนวคิดแบบ Neo’ Marxism แบ่งออกเป็น ๔ สำนัก ดังนี้
๑.       Western  Marxist ( มาร์กซ์  ตะวันตก )นักคิดลัทธินี้ในสมัยต้นๆ พยายามที่จะรักษาหลัก
วิภาษวิธีระหว่างแนวทางจิตวิสัยและวัตถุวิสัยของชีวิตทางสังคมเอาไว้ ความสนใจของนักคิดลัทธินี้ที่มีต่อตัวการทางด้านจิตวิสัย เป็นการปูพื้นฐานสำหรับพัฒนาการของทฤษฎีเชิงวิจารณ์ในสมัยต่อมา โดยมีนักคิดที่สำคัญ ได้แก่ จอร์จ ลูแคส (๑๘๘๕-๑๙๗๑) ชาวฮังกาเลี่ยน และแอนโตนิโอ แกรมชี(๑๘๙๑-๑๙๓๗) ชาวอิตาเลี่ยน
โดยลูแคส ได้ให้แนวคิดที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
ประการแรก การสร้างตัวตนทางความคิด (reification) หมายถึงการตกเป็นทาสของวัฒนธรรม
ของมนุษย์ โดยลุ่มหลงอย่างไร้สติ ไร้ความทรงจำว่ามนุษย์เองนั่นแหละเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา โดยเฉพาะลัทธิคลั่งไคล้สินค้า (fetishism of commodities)
ประการที่สอง คือสำนึกที่ผิดพลาดทางชนชั้น (False consciousness) คือการคิดว่าชนชั้นอื่นดี
ทั้งๆที่ชนชั้นนั้นกำลังครอบงำชนชั้นตนอยู่ การคิดเช่นนี้ทำให้อุดมการณ์แห่งชนชั้นได้บิดเบี้ยวไป ขาดความซื่อสัตย์แห่งสำนึกของชนชั้นตน เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิวัติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ส่วน แอนโตนิโอ แกรมชี  ได้ให้แนวคิดนีโอมาร์กซิสต์ที่สำคัญคือ การครอบงำทางอุดมการณ์ (Hegemony) ซึ่งเป็นการครอบงำชนชั้นในสังคมของนายทุนผ่านอำนาจรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการที่นายทุนและรัฐมีความสัมพันธ์กัน เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยเฉพาะการที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลต่อการครอบงำประชาชน
อีกแนวคิดหนึ่งของแอนโตนิโอ แกรมชี คือ แนวคิดประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งแกรมชีหมายถึง สถาบันที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน ศาสนา สื่อ ครอบครัว ในสังคมที่พัฒนาระบบประชาธิปไตยมานาน แกรมชีคิดว่าจำเป็นต้องแย่งชิงอำนาจครอบงำ (Hegemony) จากชั้นชั้นปกครองมาให้ ชนชั้นแรงงาน
สำหรับแนวคิดประชาสังคมในความหมายปัจจุบัน หมายถึงเป็นเวทีแห่งชีวิตสังคม มีการจัดตั้งเองเป็นเอกเทศจากรัฐ และนอกเวทีทางการเมือง มีกลุ่มและบุคคลที่หลากหลายมาร่วมกระทำการทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความคิด สร้างเอกลักษณ์และความเชื่อร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายในการสร้างอำนาจต่อรองพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มตน


๒.    สำนักแฟรงค์เฟริ์ตกับทฤษฎีวิพากษ์  (Frankfurt  Schoool  of  Critical  theory )
นักคิดลัทธินี้ได้แก่ เฮอร์เบอร์ต มาคูส (๑๙๘๙-๑๙๗๙) อะดอร์โน (๑๙๐๓-) ฮาเบอร์มาส (๑๙๒๙-) ดา
เรนดอร์ฟ (๑๙๒๘-) อัลทูแซร์ (๑๙๑๘-๑๙๙๐) ฯลฯ ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน ยกเว้น อัลทูแซร์ที่เป็นชาวฝรั่งเศส   แนวคิดของลัทธินี้ ประกอบขึ้นด้วยข้อวิพากษ์ด้านต่างๆ ของชีวิตทางสังคม โดยแนวคิดหลักนี้ให้ความสนใจอย่างเข้มข้นต่อโลกทางวัฒนธรรม ว่าเป็นตัวที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
การสนใจในลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนบน
(superstructure) มากกว่าให้ความสนใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยมีแนวคิดสำคัญดังนี้
. One Dimensional Man เป็นแนวคิดของ Herbert Marcuse หมายถึง มนุษย์มิติเดียว มิติที่ว่าคือ
มิติแห่งความกว้าง ยาว แต่ขาดมิติของความหนา และลึก กล่าวคือ มนุษย์ในสังคมทุนนิยมมักจะทำอะไรฉาบฉวย ขาดความลึกซึ้ง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์ถูกควบคุม ครอบงำ โดยเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ผ่านกิจกรรมกีฬา และเรื่องเพศ ซึ่งเป็นการสยบคนให้สูญเสียความเป็นปัจเจก ขาดความอิสระ
. Commercialization of Art เป็นแนวคิดของ Adorno หมายถึง การทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่อง
พาณิชย์ โดยเขามองว่าศิลปะในสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมนั้นเป็นผลิตผลเชิงพาณิชย์สำหรับ การบริโภคของคนจำนวนมาก เป็นศิลปะแบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนลึกซึ้ง ถึงขั้นแบบสุกเอาเผากิน เพียงแต่ผลิตเพื่อขาย มิใช่ศิลปชั้นสูง (High Arts)
         . Ideal speech situation เป็นแนวคิดของ Habermas หมายถึง การแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระเพื่อให้เกิดความรู้ เพราะเขาเชื่อว่าความรู้นั้นเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิด (Dialogue) โดยเสรีและเปิดกว้าง มีการวิพากษ์กันได้
. ความขัดแย้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นแนวคิดของ Dahrendorf เขามองว่าพื้นฐาน
ของสังคมทุกสังคม คือความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่สร้างสรรค์ มีความสมานฉันท์
. Culture Industry ในที่นี้เป็นแนวคิดของ Freedman (รวมทั้ง Adorno ด้วย) หมายถึง
อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม โดยเขาเชื่อว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวจะสร้างวัฒนธรรมที่จอมปลอมแบบสมัยใหม่ มิได้เกิดจากการตอบสนองความต้องการของคนในสังคมอย่างแท้จริง แต่มีตัวตนอย่างจอมปลอม จะทำให้เกิดการรวมศูนย์หรือผูกขาดอำนาจในการผลิตวัฒนธรรม และอาจมอมเมาประชาชน โดยการทำให้ประชาชนเคยชิน ยินยอม ซึ่งจะไม่เกิดการสร้างศิลปะใดๆ ให้แก่สังคม

๓.      Marxism ในอังกฤษและกลุ่มซ้ายใหม่  (New  left)  มีนักคิดสำคัญของลัทธินี้ได้แก่ เฮอร์
เบอร์ต มาคูส (Herbert Macuse,๑๘๙๘-), อังเดร กอร์(Andr'e Gorz,๑๙๒๔-), และหลุยส์ อัลทูแซร์ (Louis Althusser) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย  
แนวคิดของลัทธินี้อาศัยแนวคิดมาร์กซิสต์มนุษยนิยมเป็นพื้นฐาน  การต่อสู้ทางชนชั้นในแนวคิดนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ต้องการเป็นอิสระจากอำนาจทางการ นายทุน/รัฐบาลเผด็จการ ด้วยการขับเคลื่อนของเยาวชน นิสิตนักศึกษาและปัญญาชน โดยเฉพาะเยาวชนนั้นเป็นกลุ่มที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม แทนที่กรรมกรหรือชนชั้นกรรมาชีพ   เพราะเยาวชนโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษานั้นยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม จริงๆ พวกเขายังอยู่นอกระบบ ยังมิได้ถูกซื้อหรือถูกหลอมด้วยการโฆษณา อย่างชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้ตกอยู่ภายใต้ของระบบทุนนิยมเสียแล้ว นอกจากนี้ลัทธิซ้ายใหม่ยังสนับสนุนการจัดระบบสังคมนิยมขนาดเล็ก กระจายอำนาจเป็นแห่งๆขนานกันไปกับระบบนายทุน หรือระบบคอมมิวนิสต์แบบสลาติน

๔.     ลัทธินีโอมาร์กซิสต์แนวมนุษยนิยม (humanism) มีนักคิดสำคัญของลัทธินี้ เช่น อดัม
ชาฟ (Adam Schaff,๑๙๑๓-) และ เลสเช็ก โคลาโกสกี้ (Leszek Kolakowski,๑๙๒๗-) ในโปแลนด์, คาเรล โกสิก(Karel Kosik,๑๙๒๖-), ไอวาน สวิตัก(Ivan Svitak ,๑๙๒๕-) ในเชโกสโลวาเกีย, กาโจ เปโตรวิก (Gajo Petrovic,๑๙๒๗) เป็นต้น  แนวคิดสำคัญของลัทธินี้มุ่งที่มนุษย์แต่ละคนเป็นจุดหมาย มิใช่มุ่งที่วัตถุหรือมุ่งเฉพาะระบบเศรษฐกิจการเมือง การเปลี่ยนวัตถุและระบบเศรษฐกิจการเมืองก็เพื่อความสุขของมนุษย์
ลัทธินี้ให้ความสำคัญในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะทำให้ตน
สมบูรณ์ได้โดยการที่ตัวมนุษย์เป็น ฝ่ายกระทำ มิใช่มนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำ  เพราะเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีความรับผิดชอบทางศีลธรรม จะใช้ศีลธรรมของชนชั้นมาบดบังมิได้ แม้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะมีแนวทางเสมอ แต่ภายใต้กรอบแนวทางนั้น มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิ์เลือกด้วยตนเองว่าจะปฏิบัติอย่างไร

ความเหมือน และความต่างของมาร์กซิสต์เดิม และมาร์กซิสต์แนวใหม่
ความเหมือน : ทั้ง ๒ กลุ่มยังมุ่งเน้นว่าสังคมและวัฒนธรรมมักจะมีความขัดแย้งกันอยู่เป็นนิจ ซึ่งความขัดแย้งนั้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นสภาวะใหม่ที่แตกต่างจากภาวะเดิม และทั้ง ๒ กลุ่มก็ยังมีความเห็นตรงกันว่า สังคมมนุษย์นั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ จะครอบงำคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจ โดยมีเครื่องมือแห่งการครอบงำที่แตกต่างกันไป
ความต่างของ ๒ กลุ่มคือ เครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการครอบงำ ลักษณะการครอบงำ การต่อสู้และเป้าหมายทางชนชั้น
โดย "กลุ่มมาร์กซิสต์เดิม" มองว่า เครื่องมือหรือเงื่อนไขดังกล่าวคืออำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นลักษณะการครอบงำโดยตรง และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยตรงเช่นกัน ชนชั้นกรรมมาชีพที่ต่างมีสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการปฏิวัติสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ปราศจากชนชั้น สังคมแห่งความเท่าเทียมกัน หรือสังคมคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ส่วน "กลุ่มมาร์กซิสต์แนวใหม่" กลับมองว่าเครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการครอบงำนั้น คืออุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมหรือความรู้ โดยมีลักษณะการครอบงำทางอ้อม และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยทางอ้อมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพลังขับเคลื่อนผ่านกลุ่มตัวแทนสังคมต่างๆ กลุ่มประชาสังคม กลุ่มเครือข่าย โดยมีเป้าหมายพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปสังคมสู่สังคมที่มีความยุติธรรม อย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากแนวคิดสำคัญของทั้ง ๔ ลัทธิข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า มาร์กซิสต์ใหม่
(Neo’ Marxism)  มีสารัตถะสำคัญ ๓ ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง ให้ภาพของชนชั้นที่มีอิทธิพลเหนือกว่าชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชัดเจนซึ่งได้แก่ รัฐ นายทุน ที่มีความสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลต่อการครอบงำชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ได้แก่ แรงงาน ชนชั้นกลาง ปัญญาชน โดยผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจ
ประการที่สอง ให้ภาพของชนชั้นที่มีอิทธิพลเหนือกว่าชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลที่ไม่ชัดเจน จะเป็นใครก็ได้ รัฐ นายทุน อื่นๆ ที่มีอำนาจของเทคโนโลยี สื่อมวลชน และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีผลต่อการครอบงำชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ซึ่งจะเป็นชนชั้นไหนก็ได้ โดยผ่านอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์
ประการที่สาม การให้ความสำคัญกับมนุษย์ว่าเป็นผู้กระทำมากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ

1 ความคิดเห็น:

  1. Is the new Vegas casino in 2022 at the casino's new hotel? - Dr. Dr.
    The new Las Vegas casino 군산 출장안마 will bring 아산 출장안마 back the best casino and hotel hotel suites, according 하남 출장마사지 to the company, 인천광역 출장마사지 a move that 태백 출장마사지 was first

    ตอบลบ